พระโพธิสัตว์

เผยแพร่เมื่อวันที่

พระโพธิสัตว์ หมายถึง บุคคลที่บำเพ็ญบารมีหรือกระทำความดีต่างๆ เพื่อให้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล มีพระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมากตามความเชื่อในฝ่ายเถรวาท และมหายาน แต่มีความแตกต่างกันไป

ประเภทของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้า คือผู้ที่เป็นศาสดาเอกในพระพุทธศาสนา ประเภทของพระพุทธเจ้าสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. ปัญญาธิกะพุทธเจ้า

คือพระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด 20 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา 7 อสงไขย หลังจากนั้นจึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา 9 อสงไขย รวมเป็น 16 อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น พระนิยตะโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก 4 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข็มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้า จนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน

2. ศรัทธาธิกะพุทธเจ้า

คือพระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด 40 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา 14 อสงไขย หลังจากนั้นจึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา 18 อสงไขย รวมเป็น 32 อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น พระนิยตะโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก 8 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข็มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้า จนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน

3. วิริยาธิกะพุทธเจ้า

คือพระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้วิริยะเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด 80 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา 28 อสงไขย หลังจากนั้นจึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา 36 อสงไขย รวมเป็น 64 อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น พระนิยตะโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก 16 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข็มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้า จนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน ซึ่งพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ มีพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดมพุทธเจ้า พระองค์ทรงสร้างบารมีมาทาง ปัญญาพุทธเจ้า

ประเภทของพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ คือบุคคลที่ปรารถนาเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

1. อนิตยโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนมาเลย เรียกว่า อนิตยโพธิสัตว์ ความหมายคือยังไม่แน่นอนว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะอาจจะเลิกล้มความปรารถนาเมื่อไรก็ได้

2. นิตยโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ที่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนมาแล้ว เรียกว่า นิตยโพธิสัตว์ ตามความหมายคือจะได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นนอน เพราะถ้าถึงนิพพานต้องดำรงค์ฐานะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียว แต่ถ้าบารมีและเวลายังไม่สมบูรณ์ แม้ว่าจะพยายามปฏิบัติอย่างยิ่งยวดบังเกิดปัญญาอย่างเยียมยอด ก็ไม่สามารถถึงนิพพานก่อนได้ แม้จะทุกข์ท้อแท้ จนคิดว่าเลิกที่จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แต่แล้วในที่สุดมหากุศลที่เป็นอนุสัย ก็จะพุ่งกระจายขึ้นมาให้ตั้งมั่นและบำเพ็ญบารมีกันต่อ จนกว่าบารมีและเวลาสมบูรณ์

อสงไขย และ กัป

จากบทความข้างบน ผู้อ่านคงได้อ่านคำว่า อสงไขย และ กัป มาแล้ว ผู้เขียนจะอธิบายสั้นๆ ให้ทราบดังนี้

กัป เป็นหน่วยวัดเวลา ในเชิงประมาณ คือ เมื่อโลกมนุษย์ปราฏกขึ้นหรือบังเกิดขึ้น จนพังสูญหายไป 1 ครั้งเรียกว่า 1 กัป
อสงไขย เป็นหน่วยวัดเวลา ที่มากกว่ากัป คือจำนวณกัป ที่นับไม่ถ้วน เท่ากับ 1 อสงไขย
ตามที่เคยคำนวณมา 1 อสงไขย เท่ากับ จำนวน กัป ที่เอาเลข 1 ตามด้วย เลข 0 ถึง 140 ตัว
สูญกัป หมายถึงกัปที่ไม่มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น

บารมี ๓o ทัศ

บารมี หมายถึง การกระทำที่ประเสริฐ การกระทำที่ประกอบด้วยกุศลเจตนาคุณงามความดีที่ควรกระทำ คุณงามความดีที่ได้บำเพ็ญมา คุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่ เป็นธรรมส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งช่วย เหลือเกื้อกูลให้ผู้ปฏิบัติได้ถึงซึ่งโพธิญาณ บารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ คือ

ทานบารมี

ทานบารมี หมายถึง การสละออก การให้ต่างๆ โดยมีเจตนาช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสำคัญ

ศีลบารมี

ศีลบารมี หมายถึง การรักษาศีลให้เป็นปกติ หากเป็นฆราวาสหมายถึงการถือศีล 5 หากเป็นนักบวชคือการถือศีล 8 ขึ้นไป

เนกขัมมะบารมี

เนกขัมมะบารมี หมายถึง การออกบวช หากฆราวาสถือศีล ๘ ก็นับเป็นเนกขัมบารมีได้เช่นกัน เพราะเป็นการกระทำเพื่อเว้นจากกามสุข

ปัญญาบารมี

ปัญญาบารมี หมายถึง การกระทำเพื่อเพิ่มพูนปัญญา ปัญญาแบ่งออกเป็นปัญญาทางโลกและทางธรรม เนื่องจากพระโพธิสัตว์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาตคตกาล จึงต้องมีปัญญาความรู้มาก เพื่อจะได้สั่งสอนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้ การเรียนของพระโพธิสัตว์จึงต้องเรียนมากกว่าผู้อื่น

วิริยะบารมี

วิริยะบารมี หมายถึง การกระทำที่ใช้ความเพียรเป็นที่ตั้ง การมีวิริยะอาจไม่ได้หมายถึงการเพียรจนกระทั่งตัวตายในครั้งเดียว แต่หมายถึงมีความพยายามทำอยู่เรื่อยๆ ทำไปทีละน้อยตามกำลังจนกว่าจะสำเร็จ

สัมมัปปธานหรือความเพียรที่ถูกต้อง มี 4 อย่างคือ

  1. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น
  2. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
  3. ภาวนาปธาน เพียรทำบุญให้เกิดขึ้น
  4. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาการทำบุญไว้ต่อเนื่อง

ขันติบารมี

ขันติบารมี หมายถึง การอดทนอดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ

สัจจะบารมี

สัจจะบารมี หมายถึง การรักษาคำพูด ไม่กลับกลอก แม้ว่าจะต้องสละบางสิ่งเพื่อรักษาคำพูดไว้

อธิษฐานบารมี

อธิษฐานบารมี หมายถึง การตั้งมั่นในความปรารถนา ตั้งจิตมั่นต่อคำอธิษฐาน

เมตตาบารมี

เมตตาบารมี หมายถึง การมีความปรารถดี มีความรักต่อสัตว์ทั้งหลายในโลกอย่างเท่าเทียม ประดุจมารดารักบุตร เมตตาแตกต่างจากราคะตรงที่ ราคะอาจรักเฉพาะตัวหรือพวกพ้อง แต่เมตตาเป็นรักที่ไม่แบ่งแยก

อุเบกขาบารมี

อุเบกขาบารมี หมายถึง การวางเฉย มีใจเป็นกลาง การปล่อยวางในสิ่งที่ผิดพลาด ในสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ วางเฉยในความทุกข์ของตน และสัตว์ที่ช่วยไม่ได้ เนื่องจากมีปัญญาเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรมของตน ไม่มีใครได้รับความยากลำบากโดยไม่มีเหตุปัจจัย ล้วนแล้วแต่เป็นกรรมที่เคยทำมาทั้งสิ้น ซึ่งในแต่ละบารมีนั้นแบ่งย่อยเป็น 3 ขั้น ได้แก่

บารมีขั้นต้น คือ เนื่องด้วยวัตถุ และทรัพย์นอกกาย เช่น การสละทรัพย์ช่วยผู้อื่น จัดเป็น ทานบารมี, รักษาศีลแม้ว่าจะต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง จัดเป็น ศีลบารมี, หรือ ยอมถือบวชโดยไม่อาลัยในทรัพย์สิน จัดเป็น เนกขัมบารมี เป็นต้น

บารมีขั้นกลางหรืออุปบารมี คือ เนื่องด้วยเลือดเนื้อ อวัยวะ เช่น การสละเลือดเนื้ออวัยวะแก่ผู้อื่น จัดเป็น ทานอุปบารมี, การใช้ปัญญารักษาอวัยวะเลือดเนื้อของผู้อื่น จัดเป็น ปัญญาอุปบารมี ,การมีความเพียรจนไม่อาลัยในเลือดเนื้อหรืออวัยวะ จัดเป็น วิริยะอุปบารมี, มีเมตตาต่อผู้ที่จะมาทำร้ายเลือดเนื้ออวัยวะของตน จัดเป็น เมตตาอุปบารมี, หรือ มีความอดทนอดกลั้นต่อผู้ที่จะมาทำลายอวัยวะของตน จัดเป็น ขันติอุปบารมีเป็นต้น

บารมีขั้นสูงสุดหรือปรมัตถบารมี คือ เนื้องด้วยชีวิต เช่น การสละชีวิตเป็นทานแก่ผู้อื่น จัดเป็น ทานปรมัตถบารมี , ยอมสละแม้ชีวิตเพื่อจะรักษาคำพูด จัดเป็น สัจจปรมัตถบารมี, ตั้งจิตไม่หวั่นไหวต่อคำอธิษฐานแม้จะต้องเสียชีวิต จัดเป็น อธิษฐานปรมัตถบารมี, หรือ วางเฉยต่อผู้ที่จะมาทำร้ายชีวิตของตน จัดเป็น อุเบกขาปรมัตถบารมีเป็นต้น

ดังนั้น จึงรวมเป็นบารมี 30 ทัศ

อานิสงส์ บารมี 30 ทัศ ของพระนิตยะโพธิสัตว์

พระนิตยะโพธิสัตว์เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์เป็นครั้งแรก จะมีอานิสงค์ 18 อย่างอยู่ตลอด จนได้ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้า ได้แก่

  1. เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมไม่เกิดเป็นคนมีจักษุบอดมาแต่กำเนิด
  2. ไม่เป็นหูหนวกแต่กำเนิด
  3. ไม่เป็นคนบ้า
  4. ไม่เป็นคนใบ้
  5. ไม่เป็นคนง่อยเปลี้ย
  6. ไม่เกิดในมิลักขประเทศคือประเทศป่าเถื่อน
  7. ไม่เกิดในท้องนางทาสี (แต่เกิดในฐานะคนจันทาลได้ ดัง พระโพธิสัตว์ มาตังคะฤๅษี ท่านเป็นบุตรคนจันทาล แต่ไม่ได้เป็นนางทาสี)
  8. ไม่เป็นนิยตมิจฉาทิฐิ
  9. ไม่เป็นสตรีเพศ
  10. ไม่ทำอนันตริยกรรม
  11. ไม่เป็นโรคเรื้อน
  12. เมื่อเกิดเป็นสัตว์เดียรฉาน มีกายไม่เล็กกว่านกกระจาบ และ ไม่ใหญ่ไปกว่าช้าง
  13. ไม่เกิดใน ขุปปิปาสิกเปรต นิชฌานตัณหิกเปรต และกาลกัญจิกาสุรกาย
  14. ไม่เกิดในอเวจีนรก และโลกันตนรก
  15. ไม่เกิดเป็นเทวดาใน กามาพจรสวรรค์ ไม่เกิดเป็นเทวดาที่นับเข้าในเทวดาพวกหมู่มาร
  16. เมื่อเกิดเป็นรูปพรหม จะไม่เกิดใน ปัญจสุทธวาสพรหมโลก(พรหมชั้นอนาคามี) และอสัญญสัตตาภูมิพรหม( มีแต่รูปอย่างเดียว)
  17. ไม่เกิดในอรูปพรหมโลก
  18. ไม่เกิดในจักรวาลอื่น

อานิสงส์พิเศษอีกอย่างหนึ่งของนิตยะโพธิสัตว์ คือ การทำอธิมุตตกาลกริยา คือเมื่อท่านเกิดเป็นเทวดาหรือพระพรหม เกิดความเบื่อหน่าย ในการเสวยสุขนั้น ปรารถนาที่จะสร้างบารมีในโลกมนุษย์ ท่านก็สามารถทำการอธิมุตต คืออธิษฐานให้จุติ(ตายจากการเป็นเทพ)มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ทันที ได้โดยง่าย ซึ่งเหล่าเทพเทวดาอื่นๆ ไม่สามารถทำอย่างนี้ได้

คุณสมบัติและอัธยาศัยของพระโพธิสัตว์

ธรรมสโมธาน 8 ประการ

สำหรับพระโพธิสัตว์ ที่เป็น อนิตยโพธิสัตว์ แต่สร้างบารมี 30 ทัศ และมีธรรมสโมธาน 8 ประการสมบูรณ์ แล้ว จะได้รับพุทธพยากรณ์เป็นครั้งแรก ต่อหน้าพระพักตร์พุทธเจ้า โดยจะได้รับพุทธพยากรณ์โดยนัยว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงนามว่าอย่างนั้น ในกัปอันเป็นอนาคตที่เท่านั้น และก็จะกลายเป็น นิตยโพธิสัตว์ ทันที คือเป็นพระโพธิสัตว์ที่เที่ยงแท้ ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน

ธรรมสโมธาน 8 ประการคือ

  1. ได้เกิดเป็นมนุษย์
  2. เป็นบุรุษเพศ ไม่เป็นกระเทย
  3. มีอุปนิสสัยปัจจัยแห่งพระอรหันต์รุ่งเรืองอยู่ในขันธสันดาน(ถ้าเกิดเปลี่ยนใจก็จะเป็นพระอรหันต์ทันที)
  4. ต้องพบพระพุทธเจ้าขณะมีพระชนม์ชีพอยู่ และได้สร้างกองบุญกุศลต่อหน้าพระพักตร์
  5. ต้องเป็นบรรพชิต หรือต้องเป็น โยคี ฤๅษี ดาบส หรือปริพาชก ที่มีลัทธิเชื่อว่า บุญมี บาปมี ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป ต้องไม่เป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน
  6. ต้องมีอภิญญาและฌานสมาบัติ อันเชี่ยวชาญ
  7. เคยให้ชีวิตของตนเป็นทาน เพื่อสัมโพธิญาณมาก่อนในอดีดชาติ
  8. ต้องมี ฉันทะ คือมีความรักความพอใจในพุทธภูมิเป็นกำลัง

กล่าวถึงพุทธภูมิธรรมของนิยตะโพธิสัตว์ ในการเพิ่มพูนบารมีให้มากยิ่งขึ้น มีน้ำใจประกอบไปด้วย พุทธภูมิธรรม 4 ประการ คือ

  1. อุสสาโห คือประกอบไปด้วยพระอุตสาหะ มีความเพียรอันสลักติดแน่นในจิตใจอย่างมั่นคง
  2. อุมัตโต คือประกอบด้วยปัญญา มีปัญญาเชียวชาญเฉียบคม
  3. อวัตถานัง คือมีพระทัยอธิษฐานอันมั่นคง มิได้หวั่นไหวคลอนแคลน
  4. หิตจริยา คือประกอบไปด้วยพระเมตตา เจริญจิตอยู่ด้วยพรหมวิหารเป็นปกติ

อัธยาศัย ที่ทำให้พระโพธิญานของนิตยโพธิสัตว์แก่กล้ายิ่งขึ้น มี 6 ประการ

  1. เนกขัม พอใจในการรักษาศีล การบวช หรือบรรพชา
  2. วิเวก พอใจอยู่ในที่สงบ
  3. อโลภ พอใจในการบริจาคทาน
  4. อโทส พอใจในความไม่โกรธ เจริญเมตตา
  5. อโมห พอใจในการพิจารณาคุณและโทษ เจริญปัญญา
  6. นิพพาน พอใจที่ยกตนออกจากภพ ไม่ยินดีในการเวียนว่ายตายเกิด ประสงค์นิพพานเป็นอย่างยิ่ง

จริยธรรม 10 ประการ

จริยธรรม 10 ประการของพระโพธิสัตว์ ประกอบด้วย

  1. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
  2. พระโพธิสัตว์ ครองชีพโดยไม่ปรารถนาว่าจะไม่มีภัยอันตราย
  3. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีอุปสรรคในการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์
  4. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีมารขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ
  5. พระโพธิสัตว์ ถือว่าทำงานให้นานที่สุด โดยไม่ปรารถนาจะให้สำเร็จผลเร็ว
  6. พระโพธิสัตว์ คบเพื่อน โดยไม่ปรารถนาจะได้รับผลประโยชน์จากเพื่อน
  7. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาว่า จะให้คนอื่นต้องตามใจตนเองเสมอไปทุกอย่าง
  8. พระโพธิสัตว์ ทำความดีกับคนอื่น โดยไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน
  9. พระโพธิสัตว์ เห็นลาภแล้ว ไม่ปรารถนาว่าจะได้รับ
  10. พระโพธิสัตว์ เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี ติเตียนนินทาแล้ว ไม่ปรารถนาที่จะตอบโต้

คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์

คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์มีอยู่ 3 ข้อใหญ่

  1. มหาปรัชญาหรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรม ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส
  2. มหากรุณา หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีจิตกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะสละตนเองเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์
  3. มหาอุปาย หมายความว่าพระโพธิสัตว์จะต้องมีวิธีการชาญฉลาดในการแนะนำ อบรมสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าถึงสัจธรรม

คุณสมบัติทั้งสามข้อนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ข้อแรกเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตนให้ถึงพร้อม ส่วนข้อหลัง 2 ข้อเป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น

มหาปณิธาน 4

มหาปณิธาน 4 ประกอบด้วย

  1. เราจะละกิเลสให้หมด
  2. เราจะศึกษาสัจธรรมให้จบ
  3. เราจะช่วยโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
  4. เราจะบรรลุพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุด

ที่มาครับ https://th.wikipedia.org/wiki/พระโพธิสัตว์

รูปภาพ - พระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์

บทความอื่นๆ