การบูชาบุคคลที่ควรบูชา นั้นเป็นมงคลข้อหนึ่งในมงคลสูตร 38 ประการ
การบูชา คือ การยกย่อง เลื่อมใส ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เสแสร้งแกล้งทำ นั่นหมายถึง กิริยาอาการสุภาพที่แสดงต่อผู้ที่ควรบูชาทั้งต่อหน้า และลับหลัง ซึ่งการบูชาในทางปฏิบัตินั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เรียกว่า อามิสบูชา และ การบูชาด้วยการตั้งใจปฏิบัติตามคำสอน หรือแบบอย่างที่ดีของท่าน เรียกว่า ปฏิบัติบูชา ซึ่งอย่างหลังนี้เองเป็นการบูชาสูงสุด ที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง
บุคคลที่ควรบูชา คือ บุคคลที่มีคุณงามความดี ควรค่าแก่การระลึกถึง และยึดถือเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม มีอยู่ด้วยกันจำนวนมาก เช่น พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ พ่อ แม่ ฯลฯ อย่างไรก็ดีพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงบุคคลที่สมควรแก่การสร้างสถูปไว้บูชาไว้เพียง 4 จำพวก ได้แก่
เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่งนั้น ทรงมีพุทธาธิบายว่า เมื่อมหาชนยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี่เป็นสถูปของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เหตุที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงเป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่งนั้น ทรงมีพุทธาธิบายว่า เมื่อมหาชนยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี่เป็นสถูปของพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
(ในพระสูตรกล่าวเป็น "พระตถาคตสาวก" ซึ่งปกติ หมายถึง "พระอรหันต์") เหตุ ที่พระสาวกของพระพุทธเจ้าทรงเป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่งนั้น ทรงมีพุทธาธิบายว่า เมื่อมหาชนยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี่เป็นสถูปของพระสาวกของผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เหตุที่พระเจ้าจักรพรรดิ์ทรงเป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่งนั้น ทรงมีพุทธาธิบายว่า เมื่อมหาชนยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี่เป็นสถูปของพระธรรมราชาผู้ทรงธรรมนั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์